นักการตลาดทั้งมือใหม่และมือเก๋าหลายคนคงได้อ่านหรือได้ฟังบทความ รวมไปถึงบทวิเคราะห์ต่างๆ ของผู้เชี่ยวชาญที่พยายามอธิบายเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์ในปัจจุบันที่ต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งานอุปกรณ์มือถือให้มากที่สุด นักการตลาดมือใหม่หลายคนอาจตั้งคำถามในใจว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากน้อยแค่ไหนกับการที่ต้องลงทุนลงแรงกับการปรับปรุงรูปแบบคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับการใช้งานบนมือถือ? สำหรับคำตอบในเรื่องนี้ให้ลองถามตัวเองดูว่าคุณสามารถอดใจไม่จับโทรศัพท์มือถือได้นานแค่ไหน? 1 วัน 2 วัน หรือ 2 ชั่วโมง? คำตอบคือแค่ครึ่งชั่วโมงหลายคนก็คงทนไม่ได้กันแล้วใช่ไหม
เพื่อมอบประสบการณ์ในอุดมคติให้กับผู้อ่าน นักการตลาดควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของคอนเทนต์ที่ต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งานบนมือถือให้มากที่สุด ฉะนั้นในบทความนี้จะมาสรุป 7 เคล็ดลับสำหรับการพัฒนาเนื้อหาคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับอุปกรณ์มือถือ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้ารวมไปถึงสร้างยอดขายให้มากขึ้น
1.เริ่มต้นด้วย Introduction ที่ดี
แน่นอนว่าโทรศัพท์มือถือนั้นมีสัดส่วนหน้าจอที่เล็กกว่าเดสก์ท็อป (Desktop) หรือจอคอมพิวเตอร์ ทำให้การสื่อสารผ่านตัวอักษรส่วนใหญ่ถูกจำกัดให้ผู้ใช้งานต้องเลื่อนขึ้นหรือเลื่อนลงหากต้องการอ่านคอนเทนต์นั้นให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความต้องการที่เร่งรีบมากขึ้น ในกรณีส่วนใหญ่ ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือส่วนมากจะใช้เวลาในการอ่านเนื้อหาไม่เกินสองถึงสามย่อหน้าเท่านั้น เว้นแต่ว่าเนื้อหามีความน่าสนใจจริงถึงจะเลื่อนลงเพื่ออ่านเนื้อหาอื่นๆ เพิ่มเติม
ข้อแนะนำคือในการเริ่มต้นเขียนเนื้อหาคอนเทนต์ใดๆ ก็ตาม ควรเริ่มจากการเขียน Introduction หรือ ”ย่อหน้าแรก” ให้ดี โดยนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจที่สุดเพื่อดึงดูดผู้อ่าน พูดง่ายๆ ว่าพยายามหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ไม่มีความจำเป็นให้มากที่สุดและเข้าถึงประเด็นหลักของเนื้อหาอย่างรวดเร็ว
2. แบ่งเนื้อหาออกเป็นย่อหน้าสั้นๆ
เดิมทีก็เป็นเรื่องยากที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่านด้วยการมีย่อหน้ายาวๆ บนเดสก์ท็อปอยู่แล้ว สิ่งนี้กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ในโทรศัพท์มือถือที่มีหน้าจอเล็กกว่าเท่าตัว ยิ่งลดความจำเป็นในการที่ต้องให้ผู้อ่านเลื่อนดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้ผู้อ่านสามารถอยู่บนหน้าบทความได้นานมากขึ้นเท่านั้น
Jon Ziomek นักเขียนและอาจารย์ประจำที่ Northwestern University แนะนำแนวทางที่เรียกว่า “1–2-3-4-5 Approach” คือ ใน 1 ย่อหน้าต้องมี 1 ไอเดีย ยาว 2-3 บรรทัด และห้ามยาวเกิน 4-5 บรรทัด โดย Ziomek ตั้งข้อสังเกตว่าหากใน 1 ย่อหน้าเนื้อหามีความยาวเกิน 6 บรรทัด อาจจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเนื้อหามีความยาวและซับซ้อนจนเกินไป
3. รู้จักพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของผู้คน
คนทั่วโลกใช้อินเทอร์เน็ต (รวมทุกอุปกรณ์) โดยเฉลี่ย 6.54 ชั่วโมงต่อวัน เป็นแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ปี ยิ่งคนอยู่บนโลกออนไลน์มากเท่าไหร่ พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีวิถีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ สิ่งที่ตามมาคือวัฒนธรรมการบริโภคคอนเทนต์ที่เปลี่ยนไปมากขึ้น
ต่อไปนี้จะเป็นการรวบรวมรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคคอนเทนต์ต่างๆ จากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือได้ ดังนี้
- Bypassing Pattern เป็นรูปแบบที่อธิบายถึงพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ที่นิยมข้ามคำแรกหากข้อความบรรทัดแรกๆ ขึ้นต้นด้วยคำซ้ำหรือมีคำเดียวกันเยอะจนเกินไป
- Commitment Pattern เป็นรูปแบบพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์แบบอ่านทุกคำ ทุกตัวอักษร
- Layer-Cake Pattern เป็นรูปแบบพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ที่นิยมการสแกนเฉพาะหัวเรื่อง ทั้งหัวเรื่องหลักและรองโดยข้ามเนื้อหาปกติทั้งหมด
- Marking Pattern เป็นรูปแบบพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ที่เน้นไปที่ใดที่หนึ่ง ถือเป็นรูปแบบพื้นฐานสำหรับการใช้งานบนอุปกรณ์มือถือ
- Spotted Pattern เป็นรูปแบบพฤติกรรมที่นิยมข้ามชุดข้อความและมองหาบางอย่างที่มีความเฉพาะเจาะจงเช่น รูปภาพ วิดีโอ CTA หรืออื่นๆ
4. เริ่มต้นด้วยบทสรุปเนื้อหา
อย่างที่บอกว่าด้วยข้อจำกัดในการแสดงผลของอุปกรณ์มือถือ ทำให้อาจจะเป็นเรื่องที่ดีถ้าหากบทความจะเริ่มต้นด้วยการบอกข้อสรุปสาระสำคัญของบทความนั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ทันที
โดยการเขียนสรุปในส่วนแรกของเนื้อหา หมายความว่าเมื่อผู้อ่านเข้ามาจะพบกับสาระสำคัญของคอนเทนต์อยู่ด้านบนสุดและไม่ต้องเสียเวลาในการเลื่อนลงเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด ซึ่งตอบโจทย์และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้อ่านที่มีพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์แบบเร่งรีบได้
5. ใช้รูปและวิดีโอประกอบบทความ
การมีภาพหรือวิดีโอประกอบบทความในเว็บไซต์หรือสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเนื้อหาให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าในเชิงศิลปะการสื่อสารก็จะช่วยให้ผู้รับชมเนื้อหารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือระบุตรงกันว่าการใช้ภาพหรือวิดีโอจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหามากขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้อ่านเนื้อหาทั้งหมดก็ตาม นอกจากนี้การใช้ภาพหรือวิดีโอยังมีส่วนช่วยสำหรับการทำ SEO อีกด้วย พูดง่ายๆ ว่า การใส่ภาพประกอบจะทำให้บทความนั้นมีโอกาสได้รับการทำ Indexing โดย Search Engine ทำให้บทความมีโอกาสถูกผู้คนค้นหาเจอได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
6. ตั้งชื่อหัวข้อให้สั้นเข้าไว้
แม้ว่าไม่นานมานี้กูเกิลได้อัปเดตให้ความยาวสูงสุดของชื่อหัวเรื่องบทความบนมือถือสามารถใช้ตัวอักษรได้สูงสุดถึง 78 ตัวอักษร และสามารถแสดงผล 2 บรรทัดได้แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญ SEO หลายคนก็ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าชื่อหัวข้อควรสั้นและกระชับให้ได้มากที่สุด และไม่ควรมีความยาวเกิน 1 บรรทัด ยิ่งชื่อหัวข้อสั้นและกระชับมากเท่าไหร่ ผู้อ่านก็จะยิ่งเข้าใจเนื้อหาโดยรวมได้ง่ายมากขึ้นและอยากเข้ามาอ่านมากเท่านั้น
7. พรีวิวก่อนโพสต์
หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการพรีวิวบทความก่อนเริ่มการเผยแพร่ แม้ว่าจะดูเป็นขั้นตอนที่ไม่หลายคนมักจะละเลยแถมยังดูเป็นการเพิ่มความยุ่งยากให้กับการทำงาน แต่การพรีวิวเนื้อหาเพื่อให้ข้อมูลแสดงได้อย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันข้อผิดพลาดต่างๆ และช่วยให้บทความมีความน่าเชื่อถือต่อผู้อ่านมากขึ้นด้วย
สำหรับข้อแนะนำคือลองดูว่าเนื้อหาจะแสดงผลอย่างไรในมุมมองของผู้อ่านบนอุปกรณ์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น
- ตรวจสอบการแบ่งสัดส่วนย่อหน้า
- เพิ่มเติมหัวข้อย่อย
- ยังมีพื้นที่เหลือพอที่จะใส่ภาพประกอบหรือไม่
รับปรึกษาการทำ Digital Marketing ที่ Relevant Audience
Relevant Audience บริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับ Digital Performance Marketing Agency โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้บริการด้านการตลาดดิจิทัล ให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์หรือบริการในเวลา สถานที่ และอุปกรณ์ที่เหมาะสม ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ บริการของเราครอบคลุมทั้ง Search Marketing, Social Media Ads, Search Ads และ SEO (Search Engine Optimization) ไปจนถึง Influencer Marketing และยังเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรม Google Partners อีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร.: 02-038-5055
อีเมล: info@relevantaudience.com เว็บไซต์: www.relevantaudience.com